กลับ

BRR จ่อรับอานิสงค์ราคาน้ำตาลพุ่งชี้แนวโน้มยังขาดแคลน ดันราคาทะยานต่อ

BRR เตรียมรับอานิสงค์ราคาน้ำตาลทะยานสูงสุดรอบ 4 ปี เชื่อแนวโน้มราคาน้ำตาลยังพุ่งต่อเนื่อง หลังเกิดเหตุน้ำตาลขาดแคลนจากภาวะอากาศ ขณะที่ความต้องการยังคงเพิ่มขึ้นตามเศรษฐกิจที่เริ่มฟื้นตัว พร้อมวางแผนหีบอ้อยปี 2559/60 มั่นใจมีปริมาณอ้อยแตะ 2.4 ล้านตัน

นายอนันต์ ตั้งตรงเวชกิจ ประธานกรรมการบริหาร บริษัท น้ำตาลบุรีรัมย์ จำกัด (มหาชน) หรือ BRR ยอมรับว่า ธุรกิจของบริษัทมีทิศทางการเติบโต จากอนิสงค์ราคาน้ำตาลในตลาดโลก ที่ขณะนี้ทะยานขึ้นมาอยู่ในระดับ 23-24 เซ็นต์/ปอนด์ ซึ่งเป็นการปรับตัวสูงสุดในรอบกว่า 4 ปี และเป็นการพุ่งขึ้นมานับเท่าตัว จากปีก่อนหน้าที่ราคาน้ำตาลลงไปตกต่ำอยู่ในระดับ 10-14 เซ็นต์/ปอนด์ และช่วงต้นปีที่ราคาอยู่ในระดับ 12-13 เซ็นต์/ปอนด์

โดยแนวโน้มราคาน้ำตาลในตลาดโลกยังมีโอกาสปรับตัวขึ้นอย่างต่อเนื่อง หลังจากผู้ผลิตน้ำตาลอันดับ 1 ของโลกอย่างบราซิลประสบปัญหาสภาวะอากาศ ขณะที่ทวีปเอเชียก็เผชิญกับสถานการณ์ภัยแล้ง โดยเฉพาะอินเดีย จีนและไทย ทำให้ปริมาณอ้อยออกสู่ตลาดลดลง

ท่ามกลางความต้องการบริโภคน้ำตาลที่ยังคงเพิ่มขึ้นส่งผลให้ปี 2558/59 นับเป็นครั้งแรกในรอบ 5 ปีที่เกิดภาวะขาดแคลนน้ำตาล ขณะที่ปี 2559/60 ก็จะยังเกิดเหตุการณ์ดังกล่าว เห็นได้จากการที่ กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ของสหรัฐฯ (USDA) ประเมินว่า ความต้องการน้ำตาลในปี 2559/60 ยังเพิ่มขึ้นต่อเนื่องอีก 1.1% เป็น 173.6 ล้านตัน ทำระดับสูงสุดเป็นประวัติการณ์ ตามการฟื้นตัวของเศรษฐกิจโลก และจำนวนประชากรที่เพิ่มขึ้น ส่งผลให้ปริมาณน้ำตาล 2559/60 จะขาดดุลอีกราว 4.3 ล้านตัน ซึ่งทำให้สต็อกน้ำตาลในตลาดโลกยังคงมีแนวโน้มลดลงอย่างต่อเนื่อง

"อานิสงค์ราคาน้ำตาลในตลาดโลกที่ทะยานขึ้นมา จะส่งผลโดยตรงกับบริษัทตั้งแต่ต้นปีหน้าทันที เนื่องจากเป็นช่วงต้นฤดูกาลที่มีปริมาณขายน้ำตาลค่อนข้างมาก ประกอบการฐานราคาขายในต้นปี 2559ที่ค่อนข้างต่ำเพียง 12 - 13 เซ็นต์/ปอนด์ ทำให้เราประเมินไว้ว่าผลงานต้นปีหน้าจะออกมาสอดคล้องกับราคาน้ำตาลที่สูงขึ้น" นายอนันต์ กล่าว

นายอนันต์ ระบุด้วยว่า บริษัทได้เตรียมพร้อมที่จะเปิดหีบอ้อยในรอบปี 2559/60 ซึ่งคาดว่าจะมีปริมาณอ้อยเข้าหีบราว 2.4 ล้านตัน เพิ่มขึ้นต่อเนื่องจาก 2 ล้านตันในปีก่อน เนื่องจากบริษัทมีการบริหารจัดการวัตถุดิบอย่างแข็งแกร่ง โดยการส่งเสริมเกษตรกรให้ใช้เทคโนโลยีที่ทันสมัยในการปลูกและบริหารจัดการอ้อยตั้งแต่ต้นน้ำถึงการเก็บเกี่ยว ประกอบกับมีแหล่งน้ำที่ดี ซึ่งส่งผลให้บริษัทมีปริมาณอ้อยเข้าหีบจำนวนเพิ่มขึ้นโดยตลอด และมีคุณภาพค่าความหวานที่สูง แม้ว่าจะเกิดภัยแล้งขึ้นก็ตาม โดยในปี 2561/62 บริษัทตั้งเป้าเพิ่มพื้นที่เพาะปลูกจำนวน 2.5 แสนไร่ จากปัจจุบัน 2 แสนไร่ มีปริมาณอ้อยเข้าหีบ 3 ล้านตัน และมีปริมาณการผลิตน้ำตาลทรายอยู่ที่ 3.45 แสนตัน