ตลอดระยะเวลากว่า 5 ทศวรรษ กลุ่มบริษัทน้ำตาลบุรีรัมย์ มุ่งมั่นในการสร้างความเข้มแข็งให้ธุรกิจเติบโตอย่างยั่งยืน ในขณะเดียวกันก็มุ่งที่จะเป็นส่วนหนึ่งในการเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันของประเทศไทย ที่มีการทำเกษตรกรรมเป็นหลักให้มีโอกาสเติบโตอย่างยั่งยืน ด้วยการนำเทคโนโลยีและนวัตกรรมที่ทันสมัย มาประยุกต์ใช้ในการแปรรูปผลผลิตทางการเกษตร ให้เป็นผลิตภัณฑ์ที่มีมูลค่าทางเศรษฐกิจสูงขึ้น

บริษัทยังคงมุ่งมั่นและมีเป้าหมายในการพัฒนาธุรกิจให้เติบโตอย่างยั่งยืน ซึ่งจะพัฒนาทั้งมิติด้านสิ่งแวดล้อม สังคม เศรษฐกิจและบรรษัทภิบาล (ESG) และยกระดับศักยภาพพนักงานและเกษตรกรชาวไร่อ้อยเพื่อรักษามาตรฐานคุณภาพและปริมาณอ้อยให้ได้ตามแผนธุรกิจ

นายอนันต์ ตั้งตรงเวชกิจ

ประธานเจ้าหน้าที่บริหารและ
กรรมการผู้จัดการ

นายศิริชัย สมบัติศิริ

ประธานกรรมการบริษัท

“The Golden Year of Sugar”

สำหรับปี 2565 ราคาน้ำตาลโลกปรับตัวเพิ่มขึ้นสู่ระดับสูงสุดในรอบ 5 ปี จากปัจจัยสนับสนุนต่าง ๆ อาทิ การฟื้นตัวของเศรษฐกิจโลกจากสถานการณ์การแพร่ระบาดของโควิด 19 ส่งผลให้อุปสงค์การบริโภคน้ำตาลปรับตัวขึ้นตามลำดับ ประกอบกับการจำกัดโควตาการส่งออกน้ำตาลเพื่อให้เพียงพอต่อการบริโภคภายในประเทศของผู้ผลิตและส่งออกน้ำตาลอันดับสองของโลกอย่างประเทศอินเดีย อีกทั้งประเทศบราซิล ผู้ผลิตและส่งออกน้ำตาลอันดับหนึ่งของโลก ได้เผชิญกับสภาวะอากาศแห้งแล้ง ส่งผลให้ปริมาณอ้อยที่จะเข้าสู่กระบวนการผลิตน้ำตาลลดลงอย่างมีนัยสำคัญ ก่อให้เกิดการขาดดุลของน้ำตาลในตลาดโลกขึ้น

นอกจากนั้น การพัฒนาธุรกิจให้เติบโตอย่างยั่งยืน เป็นสิ่งที่ทั่วโลกกำลังให้ความสำคัญ ซึ่งเป็นหนึ่งในแนวทางที่บริษัทได้ยึดถือเป็นแนวปฏิบัติมาโดยตลอด จากวิสัยทัศน์ของบริษัทที่ว่า “สร้างความมั่นคงด้านผลผลิตและสร้างชีวิตที่ดีแก่ชาวไร่อ้อย พัฒนาธุรกิจน้ำตาลทราย พลังงานทดแทน และธุรกิจต่อเนื่องให้เติบโตอย่างยั่งยืนควบคู่กับชุมชน สังคม และประเทศชาติ ด้วยความรับผิดชอบต่อผู้มีส่วนได้เสียทุกฝ่าย” ตลอดที่ผ่านมาบริษัทได้ใช้ประโยชน์จากทุกส่วนของ “อ้อย” ต่อยอดธุรกิจและสร้างผลิตภัณฑ์ที่หลากหลายขึ้น อาทิ ธุรกิจพลังงานไฟฟ้า ชีวมวล ธุรกิจปุ๋ย และธุรกิจบรรจุภัณฑ์จากเยื่อชานอ้อย สิ่งเหล่านี้จึงทำให้กระบวนการผลิตตั้งแต่ต้นน้ำถึงปลายน้ำล้วนปราศจากสิ่งเหลือจากกระบวนการการผลิต หรือเรียกได้ว่าเป็นอุตสาหกรรม zero waste อีกทั้งบริษัทยังมองหาโอกาสในการเติบโตอย่างต่อเนื่อง โดยการขยายการลงทุนในธุรกิจผลิตและจำหน่ายเชื้อเพลิงชีวมวลอัดแท่ง หรือ Wood Pellet ที่ประเทศสปป.ลาว ซึ่งบริษัทมุ่งผลักดันและพัฒนาการใช้พลังงานทดแทน และลดปริมาณก๊าซเรือนกระจก

จากปัจจัยสนับสนุนด้านราคาน้ำตาล ประกอบกับกลยุทธ์การพัฒนาธุรกิจให้เติบโตอย่างยั่งยืนของบริษัท ส่งผลให้ผลการดำเนินงานในรอบปี 2565 ที่ผ่านมา บริษัทมีรายได้รวม 7,506.96 ล้านบาท และมีกำไรสุทธิ 760.56 ล้านบาท โดยสามารถทำกำไรเติบโตอย่างก้าวกระโดดที่ 499% นอกจากนั้น บริษัทยังได้รับการประเมินอันดับความน่าเชื่อถือจากบริษัท ทริสเรทติ้ง จำกัด อยู่ในอันดับ “BBB-” ด้วยแนวโน้ม “คงที่”

“Toward Sustainable Future”

อย่างไรก็ตาม แม้ปี 2565 จะเป็นปีทองของธุรกิจน้ำตาล แต่ยังคงมีความเสี่ยงที่กระทบต่อธุรกิจเกิดขึ้น อาทิ การเกิดอุทกภัยในพื้นที่ไร่อ้อยในช่วงไตรมาสที่สาม ส่งผลให้เกิดความเสียหายกับอ้อยที่เป็นวัตถุดิบหลักในการผลิตน้ำตาล อย่างไรก็ตาม บริษัทได้เร่งแก้ไขปัญหาดังกล่าวโดยการเพิ่มจำนวนผลผลิตภายในแปลงที่ไม่ได้รับผลกระทบให้มีผลผลิตที่เพิ่มสูงขึ้น เพื่อลดผลกระทบด้านปริมาณผลผลิตสำหรับฤดูการผลิตถัดไป

อีกทั้งยังมีความเสี่ยงด้านความผันผวนของอัตราแลกเปลี่ยน จะเห็นได้ว่าในช่วงไตรมาสที่สี่ ค่าเงินบาทปรับตัวแข็งค่าขึ้น ซึ่งบริษัทรับรู้รายได้จากการส่งออกน้ำตาลเป็นเงินสกุลเหรียญสหรัฐอเมริกาเป็นสัดส่วนประมาณ ร้อยละ 70 ของรายได้จากการจำหน่ายน้ำตาลทั้งหมด ดังนั้นรายได้ของบริษัทจะผันผวนตามอัตราแลกเปลี่ยนบาทต่อเหรียญสหรัฐอเมริกา อย่างไรก็ดี บริษัทมีมาตรการในการป้องกันความเสี่ยงโดยเข้าทำสัญญาซื้อขายเงินตราต่างประเทศล่วงหน้า (Forward Contract) กับสถาบันการเงิน เพื่อลดความผันผวนของอัตราแลกเปลี่ยนเงินตราต่างประเทศ โดยอัตราแลกเปลี่ยนที่ทำสัญญาจะพยายามให้เท่ากับหรือมากกว่าอัตราแลกเปลี่ยนที่บริษัท อ้อยและน้ำตาลไทย จำกัด (อนท.) ใช้ในการคำนวณราคาจำหน่ายน้ำตาล

สำหรับด้านการพัฒนาธุรกิจอย่างยั่งยืน บริษัทได้พัฒนาบุคลากรภายในบริษัทให้มีศักยภาพสูงสุด โดยบริษัทสนับสนุนให้พนักงานมีการอบรมมากกว่า 38,325 ชั่วโมงต่อปี รวมทั้งการพัฒนาเกษตรกรชาวไร่อ้อยในเครือข่ายของบริษัทอย่างต่อเนื่อง ตามพันธกิจสร้าง “นักธุรกิจชาวไร่” โดยในปี 2565 มีเกษตรกรชาวไร่อ้อยในกลุ่มการส่งเสริมของบริษัท ได้รับรางวัลชาวไร่อ้อยดีเด่นของสำนักงานอ้อยและน้ำตาลทราย 4 ราย นอกจากการส่งเสริมด้านความรู้เชิงวิชาการแล้ว ยังได้สนับสนุนปัจจัยการผลิต เครื่องมือเครื่องจักร และเทคโนโลยีต่าง ๆ เพื่อความมั่นคงด้านวัตถุดิบให้เป็นไปตามเป้าหมายที่วางไว้ พร้อมทั้งคำนึงถึงความมั่งคั่งของรายได้และคุณภาพชีวิตที่ดีของเกษตรกร ซึ่งเป็นปัจจัยที่สำคัญของความสำเร็จในการพัฒนาธุรกิจอย่างยั่งยืน

การร่วมมือกับพันธมิตรที่แข็งแกร่ง เป็นอีกหนึ่งยุทธศาสตร์ที่บริษัทนำมาพัฒนาธุรกิจให้เติบโตอย่างยั่งยืน โดยในไตรมาสที่สาม บริษัทได้ร่วมมือกับบริษัท เจมาร์ท จำกัด (มหาชน) ในการพัฒนาต่อยอดทางธุรกิจ ก่อให้เกิดโครงการ “Buriram Model” ขึ้น โดยบริษัท เจมาร์ท จำกัด (มหาชน) ได้เห็นถึงความโดดเด่นด้านผลผลิต ความเข้มแข็งของกลุ่มเกษตรกรชาวไร่อ้อย และศักยภาพในการเติบโตอย่างยั่งยืนของบริษัท จึงได้ซื้อหุ้นและเป็นผู้ถือหุ้นอันดับสองของบริษัท ด้วยจำนวนหุ้น 74,660,000 หุ้น หรือร้อยละ 9.193 (ข้อมูล ณ วันที่ 30 ธันวาคม 2565) ด้วยความโดดเด่นทางด้านการเงิน ด้านการค้าปลีก และด้านเทคโนโลยีของบริษัท เจมาร์ท จำกัด (มหาชน) บริษัทจึงต้องการนำจุดเด่นดังกล่าวมาช่วยยกระดับคุณภาพชีวิตให้แก่เกษตรกรชาวไร่อ้อย พนักงาน ชุมชน และสังคมโดยรอบให้เกิดความเข้มแข็ง มั่นคง และยั่งยืน เพราะบริษัทเชื่อมาโดยตลอดว่า เกษตรกรชาวไร่อ้อย พนักงานทุกคน และชุมชนที่อยู่คู่กับบริษัทมาอย่างยาวนาน เปรียบได้กับคนสำคัญของบริษัท เมื่อทุกคนมีคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้น ย่อมส่งผลต่อความมั่นคงทางธุรกิจของบริษัทเช่นเดียวกัน

บริษัทยังคงมุ่งมั่นและมีเป้าหมายในการพัฒนาธุรกิจให้เติบโตอย่างยั่งยืน ซึ่งจะพัฒนาทั้งมิติด้านสิ่งแวดล้อม สังคม เศรษฐกิจและบรรษัทภิบาล (ESG) และยกระดับศักยภาพพนักงานและเกษตรกรชาวไร่อ้อย เพื่อรักษามาตรฐานคุณภาพและปริมาณอ้อยให้ได้ตามแผนธุรกิจ อีกทั้งการนำเทคโนโลยี งานวิจัย และนวัตกรรมมาพัฒนาสินค้าและบริการเพื่อส่งมอบสินค้าและบริการที่มีคุณภาพ ปลอดภัย และเป็นมิตรกับผู้บริโภคและสิ่งแวดล้อม โดยตัวอย่างความสำเร็จในด้านดังกล่าว ในปี 2565 บริษัทได้รับผลการประเมินการกำกับดูแลกิจการ (CGR) ในระดับ “ดีเลิศ” (Excellent CG Scoring) ติดต่อกันเป็นปีที่ 5 จากสมาคมส่งเสริมสถาบันกรรมการบริษัทไทย (IOD) และบริษัท ชูการ์เคน อีโคแวร์ จำกัด ได้รับการรับรองคุณภาพอุตสาหกรรมสีเขียวระดับ 2 (ปฏิบัติการสีเขียว Green Activity) ซึ่งสะท้อนการดำเนินกิจกรรมของธุรกิจเพื่อลดผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อม ทั้งการกำหนดนโยบายด้านสิ่งแวดล้อม การจัดทำแผนงานด้านสิ่งแวดล้อม และปฏิบัติตามแผนงานดังกล่าวอย่างเคร่งครัด

ในนามคณะกรรมการบริษัท และพนักงานทุกคน ขอขอบคุณเกษตรกรชาวไร่อ้อย ผู้ถือหุ้น ลูกค้า และผู้มีส่วนได้เสียทุกท่านที่เชื่อมั่นและสนับสนุนบริษัทด้วยดีเสมอมา บริษัทจะยึดมั่นในการเป็นองค์กรที่สร้างคุณค่าและมูลค่า ด้วยศักยภาพและความมุ่งมั่นในการพัฒนาอย่างไม่หยุดนิ่งของพวกเรา เพื่อให้บรรลุเป้าหมายตามแผนที่วางไว้ รวมทั้งนำโอกาสและผลการดำเนินงานที่ดีมาสู่องค์กร ผู้มีส่วนได้เสีย และสังคมไทยสืบไป